วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Learning Contract



Learning  Contract  ข้อตกลงระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน

“Education is a lifelong process of continuing inquiry and the development of skills needed for self-directed inquiry.”

ในปัจจุบัน ระบบการศึกษาที่ผู้สอนเน้นการป้อนความรู้ให้แก่ผู้เรียนโดยนักเรียนมีส่วนร่วมในขบวนการจัดการเรียนการสอนน้อยอาจไม่ค่อยเหมาะสมนักสำหรับการศึกษาแบบผู้ใหญ่ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนมากขึ้นและผู้เรียนเองสามารถกำหนดวิธีการเรียน และเนื้อหาที่ต้องการจะเรียนรู้ได้ พร้อมทั้งขบวนการเรียนรู้นั้นสามารถเกิดขึ้นตลอดชีวิต จากหลักการและเหตุผลดังกล่าว Malcolm Knowles จึงได้บัญญัติศัพท์เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการเรียนแบบผู้ใหญ่ขึ้นมา คือ Andragogy or Adult Learning ในปี 1968 โดยในการจัดการเรียนการสอนดังกล่าว จะมีการกำหนดข้อตกลงระหว่างผู้เรียนและผู้สอนเพื่อหาวิธีการเรียนที่เหมาะสมและสะดวกแก่ผู้จัดการสอนให้ตอบสนองต่อวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน อีกทั้งการศึกษาแบบผู้ใหญ่มักจะจัดสรรวิธีการให้สามารถมีเวลาค้นคว้าด้วยตัวเองเป็นส่วนมาก (Self directed learning) นักการศึกษาจึงได้มีการบัญญัติศัพท์คำหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้มองรูปธรรมของการเรียนแบบผู้ใหญ่ได้ชัดเจนขึ้น คือ ข้อตกลงระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน (Learning contracts)

The concept of contract learning
"Contract learning is, in essence, an alternative way of structuring a learning experience: It replaces a content plan with a process plan." Malcolm S Knowles (1991, p.39).

Learning contract ได้ถูกนิยามไว้ว่า หมายถึง ข้อตกลงระหว่างผู้เรียน (หรือกลุ่มผู้เรียน) กับผู้สอน (หรือทีมผู้สอน) ในฐานะตัวแทนของสถานศึกษา เกี่ยวกับกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ หรือแม้กระทั่งเจตคติเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ไม่ว่าการเรียนรู้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในห้องเรียนหรือจะเป็นการเรียนอย่างอิสระ แต่อาจมีคำอื่นๆปรากฏให้เห็นได้ เนื่องจากนักการศึกษาหลายท่านเห็นว่า คำว่า Contract มักมีความหมายไปในทางสัญญาทางกฎหมายมากกว่า คำอื่นๆ ที่มีใช้ให้เห็น อาทิเช่น

  Learning plan
  Learning commitment
  Study plan
  Learning agreement
  Self-development plan

Purposes of Learning Contracts

การมีข้อตกลงร่วมกันระว่างนักเรียนและผู้สอน เป็นไปเพื่อ
1.เพื่อทำให้หลักสูตรมีความสมบูรณ์พร้อม
2.เป็นการเพิ่มทักษะด้านการเรียนรู้ของนักเรียน
3.เพิ่มความหลากหลายของกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนตามความถนัด ความสามารถในการเรียนรู้และ ความสนใจในรูปแบบการเรียนของผู้เรียน

Learning contract เป็นหนทางที่จะพัฒนาผู้เรียนของตนจากนักเรียนนักศึกษาที่ passive ให้กลายเป็น self-directed learner ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เป็น life-long learner ในอนาคต

What does it concern about?

อาจมีคำถามว่า แล้วข้อตกลงระหว่างผู้เรียนและผู้สอนมักคำนึงถึงสิ่งใดเป็นสำคัญ คงต้องอธิบายต่อว่า เน้นความสำคัญเพื่อการประเมินการเรียนการสอน ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้เรียนว่า ทั้งอาจารย์ผู้สอนและนักเรียนมีความเข้าใจตรงกันว่า งานที่ส่ง วิธีการประเมิน ต้องสอดคล้องและบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือข้อกำหนดของหลักสูตรด้วย

Type of learning contracts

1.Fully self directed: นักเรียนจะร่างข้อตกลงขึ้นมาก่อนแล้วค่อยขอความเห็นจากอาจารย์ผู้สอนว่าสมควรหรือไม่
2.Prescribed: จุดประสงค์และกฎเกณฑ์การประเมินการเรียนการสอนจะถูกร่างขึ้นมาก่อนแล้วตามข้อกำหนดของหลักสูตร

How to develop a learning contract?
Knowles (1986) ได้เสนอแนะว่า learning contract ควรมีองค์ประกอบดังนี้:
1. ความรู้ ทักษะ หรือเจตคติ ที่ผู้เรียนต้องการจะพัฒนาให้เกิดขึ้น ถือเป็นวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในครั้งนี้ (จะเรียนรู้เรื่องอะไร?) (The knowledge, skills, attitudes, and values) หรือ วัตถุประสงค์การเรียนรู้ (learning objectives);
2. วิธีการ แนวทาง หรือทรัพยากรสนับสนุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ (จะเรียนรู้อย่างไร?) (Learning resources and strategies);
3. เงื่อนเวลาในการดำเนินการสำเร็จในแต่ละขั้นตอน (เมื่อไรจึงจะดำเนินการแล้วเสร็จ?);
4. หลักฐานเพื่อแสดงว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แล้ว (ทำอย่างไรจึงจะทราบว่าบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว?)
5. แนวทาง หรือวิธีการที่จะใช้ในการประเมินผลกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด (จะใช้หลักการอย่างไรในการให้ผ่าน ไม่ผ่านหรือตัดเกรด?)
หรือหากจะแบ่งข้อกำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้เรียนและผู้สอนให้ชัดอาจแบ่งเป็นส่วนๆได้แบ่งดังนี้
1.อะไรคือสิ่งที่ผู้เรียนควรจะได้เรียน
2.ขบวนการเรียนรู้จะสำเร็จได้อย่างไร
3.ขบวนการเรียนรู้จะได้รับการประเมินอย่างไร


นิยามหรือคำอธิบายแนวคิด (Concept) ของการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง
การเรียนรู้ด้วยการนำตนเองเป็นแนวคิดการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียน ผู้สอน และสถานศึกษา จำเป็นต้องมีความเข้าใจร่วมกันเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละบุคคล
Knowles (1980) ได้กล่าวถึงการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง ว่าเป็นลักษณะของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งผู้เรียนเป็นผู้คิดริเริ่มวินิจฉัยความต้องการการเรียนรู้ของตน ระบุวัตถุประสงค์และกำหนดแผนการเรียนรู้ รวมทั้งประเมินผลการเรียนรู้นั้นด้วยตนเอง ทั้งนี้อาจอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือไม่ก็ได้กระบวนการการเรียนรู้ด้วยตนเองสามารถเริ่มต้นด้วยการใช้การสร้างกลุ่มเพื่อช่วยให้เกิดการผลักดันสู่ความต้องการ และอาจใช้เพื่อนร่วมกลุ่มเป็นผู้อำนวยความสะดวกก็ได้ รวมทั้งมีการสร้างแรงจูงใจจากการที่บุคคลต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายและจำเป็นต้องใช้การเรียนรู้ใหม่ ทักษะใหม่เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในการเริ่มต้นการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองนี้ อาจมีการต่อต้านจากผู้เรียนบ้างในระยะเริ่มต้นบ้างจนกว่าผู้เรียนจะได้รับความสำเร็จจากการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองดังกล่าวนอกจากนั้น Knowles (1975) ยังชี้ให้เห็นว่าการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองเป็นกระบวนการเรียนรู้ซึ่งมีบรรยากาศของผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยผู้สอนแสดงบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกมากกว่าทำการสอนโดยตรงเพียงลักษณะเดียว และในแนวคิดดังกล่าวนี้ผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการวางแผนการเรียนรู้ของตน การลงมือปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้ของตนเองและการประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง สำหรับผู้สอนต้องมีบทบาทช่วยสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน และช่วยออกแบบทรัพยากรการเรียนรู้ต่างๆที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
Oddi (1987), Kasworm (1983) และ Wallace (1980) ได้ให้ความสำคัญของผู้เรียนโดยเฉพาะบุคลิกภาพและความคิดเห็นของผู้เรียนแต่ละบุคคล ว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อการคิดริเริ่มเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จต่อการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล และสอดคล้องกับแนวคิดของ Brockett and Hiemstra (1991) ที่ได้เสนอว่าการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองขึ้นกับองค์ประกอบหลัก 2 ประการ คือ ลักษณะบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลและวิธีการในกระบวนการเรียนการสอน โดย Brockett (1983) เสนอลักษณะบุคลิกภาพของผู้เรียนที่มีผลต่อการเรียนรู้นั้นต้องเกิดขึ้นจากการสร้างแรงจูงใจ การรับรู้ และภาวะทางอารมณ์ของบุคคลดังกล่าว
นอกจากนี้ Houle (1980) ได้นำเสนอรูปแบบกระบวนการในการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง 3 รูปแบบ คือ 1.) การเรียนรู้ผ่านบทเรียนการเรียนรู้ 2.) การเรียนรู้ผ่านแหล่งข้อมูล และ 3.) การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ และBrookfield (1981) พบว่าผู้เรียนและกลุ่มมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเรียนรู้ผ่านบทเรียน ส่วนการเรียนรู้ผ่านแหล่งข้อมูลสัมพันธ์กับบุคคล และการเรียนรู้จากประสบการณ์สัมพันธ์กับกลุ่ม
สรุปได้ว่า การเรียนรู้ด้วยการนำตนเองคือกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตน โดยการกำหนดความต้องการและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ รวมทั้งการออกแบบประสบการณ์และทรัพยากรที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของตนตลอดจนการประเมินผลด้วยตนเอง
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องสำหรับการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง
การเรียนรู้ด้วยการนำตนเองประกอบด้วยปัจจัย 3 ประการ คือ
1. ผู้เรียน (Learners)
ผู้เรียนต้องแสดงบทบาทของการชี้นำการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตั้งแต่การกำหนดความต้องการ การเรียนรู้ การออกแบบแผนการเรียนรู้ การกำหนดทรัพยากรการเรียนรู้ และการกำหนดวิธีการวัดและประเมินผล
2. ผู้สอน (Instructor)
ผู้สอนต้องแสดงบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นผู้สร้างบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ ออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และเป็นผู้กระตุ้นเสริมแรงให้เกิดการเรียนรู้ในตัวผู้เรียนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
3. แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ต่างๆ (Learning Resources)
ทรัพยากรการเรียนรู้หรือแหล่งการเรียนรู้นี้ รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่สนองตอบต่อความต้องการการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ
ผู้เรียนการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองควรเริ่มต้นด้วยการที่ผู้เรียนได้รับบรรยากาศสำหรับการแสวงหาคำตอบร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และการร่วมกันแสวงหาคำตอบระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน (Mutual Inquiry) นอกจากนี้ผู้เรียนควรมีโอกาสวินิจฉัยความต้องการการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญยิ่งในการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง
เมื่อผู้เรียนได้ตระหนักถึงความต้องการการเรียนรู้ที่แท้จริงของตนแล้ว ผู้เรียนและผู้สอนต้องร่วมมือกันสร้างและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนดังการ สอดคล้องกับแนวทางของการศึกษาที่เรียกว่า Andragogy ซึ่งหมายถึง ศิลป์และศาสตร์ของการช่วยเหลือผู้ใหญ่ให้เกิดการเรียนรู้( http://en.wikipedia.org/wiki/Andragogy)
แนวทางการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับการนำตนเองคือการใช้ สัญญาการเรียนรู้ (Learning Contract) หมายถึงข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน เพื่อการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง การใช้สัญญาการเรียนรู้จึงเป็นการวางแผนการเรียนรู้ร่วมกันโดยประกอบด้วย วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้ หลักฐานแห่งความสำเร็จ เกณฑ์และวิธีการประเมินผล และวันเดือนปีที่คาดว่าจะสำเร็จ

ผู้สอน
ผู้สอนต้องเริ่มต้นการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ บรรยากาศอบอุ่น บรรยากาศแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน บรรยากาศของการนำไปสู่การสนทนา บรรยากาศที่ผู้เรียนสามารถเข้าใจบทบาทการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างชัดเจน และบรรยากาศของการไว้วางใจซึ่งกันและกันดังนั้นบทบาทและวิธีการเรียนการสอน จึงต้องนำไปสู่บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ บทบาทของผู้สอนจึงต้องเปลี่ยนแปลงจากผู้ถ่ายทอดความรู้ สู่ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้หรือเพื่อนร่วมทางการเรียนรู้ร่วมกัน พิจารณาเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน

แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ต่างๆ
ทรัพยากรการเรียนรู้หรือแหล่งการเรียนรู้เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองผู้เรียนสามารถเข้าถึง แหล่งข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ และประสบการณ์ที่สนับสนุนได้อย่างทั่วถึง โดยผู้สอน ส่งเสริมให้ผู้เรียนใฝ่เรียนใฝ่รู้ แสวงหาความรู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัยอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ สอดคล้องกับความต้องการของตน ของแหล่งการเรียนรู้ตามนัยของมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จะพบว่าแหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์กีฬาและนันทนาการ เป็นต้น

สรุปแนวคิดการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง
การเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตน โดยการกำหนดความต้องการและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ รวมทั้งการออกแบบประสบการณ์และทรัพยากรที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของตน ตลอดจนการประเมินผลด้วยตนเอง โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือเพื่อนร่วมทางการเรียนรู้ (Facilitators) กับผู้เรียน มากกว่าที่จะเป็นครูผู้สอนความรู้โดยตรง โดยมีบรรยากาศของการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง


ที่มา : http://wiki.edu.chula.ac.th, http://www.fmkkh.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น